ตราคณะ

หน้าแรก > ตราคณะ

ตราสัญลักษณ์และความหมาย

ยังไม่มีการอธิบายอย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของตราสัญลักษณ์ของคณะ แต่เราบอกได้ว่าตราสัญลักษณ์นี้ ได้สื่อถึงงานไถ่กู้มนุษยชาติให้ได้รับความรอดขององค์พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งคณะได้เป็นผู้ประกาศถึงงานไถ่กู้นี้ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระนางมารีย์  ซึ่งสามารถอธิบายได้จากสัญลักษณ์ของกางเขน ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาพร้อมกับหอกและไม้เสียบฟองน้ำ ที่ข้างกางเขนยังมีอักษรย่อชื่อ ของพระเยซูคริสตเจ้า และพระนางมารีย์รวมทั้งมีข้อความที่เขียนไว้ว่า "ในพระองค์ มีความรอดครบบริบูรณ์"

ดวงตาที่อยู่ภายในสามเหลี่ยม หมายถึง พระตรีเอกภาพ แต่เนื่องจากในรูปนี้ สามเหลี่ยมได้หายไป  ดังนั้น ดวงตา จึงหมายถึง  ความเมตตากรุณาของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ นั่นก็ หมายถึง ดวงตาแห่งพระญาณสอดส่องของพระเจ้าในชีวิตของมนุษย์นั่นเอง   

กิ่งปาล์ม, กิ่งมะกอก, กิ่งลอเร็ล เป็นการเพิ่มเติมหรือตกแต่งให้ตราสัญลักษณ์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

มงกุฎที่ประดับเหนือตราสัญลักษณ์ หมายถึงมงกุฎแห่งพระสิริมงคลซึ่งสมาชิกในคณะจะได้รับ เป็นรางวัลตอบแทนสำหรับความพากเพียรในการดำเนินชีวิตนักบวชในคณะจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

เนินเขาสามลูกไม่ได้มีความหมายทางสัญลักษณ์อะไรพิเศษ คงเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ที่จะมีสัญลักษณ์ภูเขาในการทำตราสัญลักษณ์ในเวลานั้น

ประวัติความเป็นมาของตราสัญลักษณ์

ตราสัญลักษณ์ของคณะพระมหาไถ่  เกิดขึ้นในช่วงที่คณะกำลังเริ่มก่อตั้ง และจากการเริ่มต้นนี้เอง การจะมีตราสัญลักษณ์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการที่จะรับรองคณะและพระวินัยของคณะทั้งจากพระศาสนจักร และทางบ้านเมืองนักบุญอัลฟอนโซและเพื่อนสมาชิกกลุ่มแรกๆ จึงได้เลือกเอาสัญลักษณ์ทางศาสนาบางอย่างซึ่งสามารถอธิบายถึงจิตตารมณ์ของคณะใหม่นี้ และอาจมีการเพิ่มเติม-ตกแต่งด้วยรายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ตามกฎระเบียบที่ว่าด้วยการทำตราสัญลักษณ์ 

ที่คาซา อนัสตาสิโอ สกาลา เราได้พบภาพวาดอยู่บนผนังกำแพงของเตาอบ  ขนมปังในครัวของคณะภาพหนึ่ง  ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นภาพที่วาดขึ้นโดย บราเดอร์ วีตุส ครูซิอุส  และถือได้ว่าภาพวาดภาพนี้เป็นตราสัญลักษณ์ของคณะอันแรก ภาพวาดนี้ประกอบด้วย รูปกางเขน  ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาลูกหนึ่ง พร้อมด้วยหอก ไม้เสียบฟองน้ำ และบันได ภาพนี้ถูกวาดขึ้นในราว ปี ค.ศ. 1738 

ตราสัญลักษณ์จะต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนก่อนที่จะมีการรับรองพระวินัย จากสมเด็จพระสันตะปาปาในปี ค.ศ.1749 ดังที่เราได้เห็นจากผลการประชุมสมัชชาใหญ่ของคณะในปี ค.ศ.1747  เลขาที่ประชุมได้บันทึกไว้ดังนี้ "ตราสัญลักษณ์ของคณะประกอบด้วย กางเขนที่ตั้งอยู่ บนยอดเขา 3 ลูก เหนือกางเขนมีดวงตาที่ส่องประกาย และนักบุญอัลฟอนโซได้ลบข้อความว่า "เหนือกางเขนมีดวงตาส่องประกาย" นั้นออกไป แล้วท่านได้เขียนเพิ่มเติมใหม่ว่า ตราสัญลักษณ์คณะประกอบด้วย  "กางเขนพร้อมกับหอก  ไม้เสียบฟองน้ำ และข้างๆ ของกางเขนมีชื่อย่อของ พระเยซูคริสตเจ้าและพระนางมารีย์ ส่วนที่เหนือกางเขนมีรูปดวงตาที่ส่อง ประกาย และเหนือสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดมีมงกุฎ" 

  หลังจากเสร็จการประชุมครั้งนั้น ก็ได้มีการออกแบบตราสัญลักษณ์ทันที อย่างไรก็ตามตราสัญลักษณ์คณะนี้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าได้รับการออกแบบโดยท่านนักบุญอัลฟอนโซ นั้น ก็ยังได้เขียนข้อความเพิ่มขึ้นอีกว่า "ในพระองค์ มีความรอดครบบริบูรณ์" นอกจากนั้น ตราสัญลักษณ์ของคณะยังได้รับการพยุงด้วยกิ่งไม้ 2 กิ่ง ซึ่งรายละเอียดสุดท้ายนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ใดๆ ของคณะเลย และยังไม่มีการเขียนบันทึกอธิบายในเอกสารของคณะด้วย

  จนกระทั่งช่วงหลังศตวรรษที่ 19  กิ่งลอเร็ล หรือกิ่งมะกอก หรือกิ่งปาล์ม  ได้ปรากฏบ่อยๆในตราสัญลักษณ์ของคณะถึงแม้ในธรรมนูญของคณะจะไม่ได้มีการอธิบายอะไรในเรื่องนี้ก็ตาม สองปีหลังจากการประชุมในปี ค.ศ. 1747 ตราสัญลักษณ์ของคณะได้ปรากฏบนหน้าปกหนังสือเฝ้าศีลมหาสนิท ซึ่งได้รับการปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ที่เนเปิลส์ ในปี ค.ศ. 1749 และตั้งแต่นั้น มาตรานี้ก็ได้รับพิจารณาให้เป็นตราสัญลักษณ์ของคณะเรื่อยมาเราไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นแรงจูงใจให้ท่านนักบุญอัลฟอนโซ และเพื่อนสมาชิกเลือกเอารายละเอียด ต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของตราสัญลักษณ์ของคณะ เพราะในการประชุมสมัชชาใหญ่ของคณะ ในปี ค.ศ. 1747  ก็ไม่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เลย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่างๆในตราสัญลักษณ์ของคณะก็สามารถอธิบายถึงจุดประสงค์ และจิตตารมณ์ของงานธรรมทูตของคณะได้เป็นอย่างดี 

  ผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคณะหลายคน ได้ให้ข้อสังเกตว่าบางทีรายละเอียด ต่างๆของตราสัญลักษณ์ของคณะนี้ อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์การประจักษ์ที่เกิดขึ้นที่สกาลา ในระหว่างพิธีอวยพรศีลมหาสนิท ในโอกาสเตรียมฉลองวันก่อตั้งคณะในวันที่ 9พฤศจิกายน  ค.ศ.1732    ก็เป็นได้พยานหลายคนที่ได้เห็นการประจักษ์นี้ต่างก็ยืนยันว่า ได้เห็นกางเขนสีดำตั้งอยู่บนเนินเขา  พร้อมเครื่องมือในการทรมาน ปรากฏอยู่ในแผ่นศีลมหาสนิท  แต่บางคนก็ได้เห็นดวงดาวและมีบางสิ่งบางอย่างสีขาวๆ คล้ายก้อนเมฆ  ส่วนนักบุญอัลฟอนโซ  ได้กล่าวว่า  ท่านเองก็ได้เห็นกางเขนสีดำและก้อนเมฆเล็กๆ คล้ายกับดาวดวงหนึ่งซึ่งมี สีขาวกว่าสีของแผ่นศีลมหาสนิท ปรากฏอยู่ข้างกางเขนสีดำนั้น  ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1732  พระสังฆราชฟัลโกยา  คุณพ่อวิญญาณารักษ์ของอัลฟอนโซ พร้อมกับบรรดาซิสเตอร์  ได้แนะนำอัลฟอนโซ  ถึงการประจักษ์ว่า นี่คงเป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าแน่แท้ ที่จะให้ท่านได้ก่อตั้งคณะนักบวชขึ้น ฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรแตกต่างเลยในรายละเอียดหลักๆ ที่เป็นส่วนประกอบของตราสัญลักษณ์ของคณะ กับรายละเอียดต่างๆที่ปรากฏอยู่ในแผ่นศีลมหาสนิทในการประจักษ์เช่น ภูเขา  กางเขน และเครื่องทรมานต่างๆ