ประวัติคณะ

หน้าแรก > ประวัติคณะ

คณะสงฆ์พระมหาไถ่ในประเทศไทย

การแพร่ธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเริ่มปี ค.ศ.1881 ในปี ค.ศ.1899 ก็แยกตัวออกจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นสังฆมณฑลใหม่ ขนานนามว่า “มิสซังลาว” มีอาณาบริเวณตลอดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ศูนย์กลางของสังฆมณฑลอยู่ที่วัดนักบุญอันนา หนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พระสังฆราชที่เคยปกครอง คือ พระสังฆราชยวงมารี กืออาส, พระสังฆราชอังย์มารี แกวง, พระสังฆราชโทมินและพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ 

คณะพระมหาไถ่เข้ามาในประเทศไทย

ปี ค.ศ. 1936 แขวงเวียงจันทร์และหลวงพระบางแยกออกเป็นสังฆมณฑลต่างหาก ฝั่งซ้ายที่เหลือยังรวมอยู่กับ “มิสซังลาว” หรือ “มิสซังหนองแสง” ปี ค.ศ. 1941 พระสังฆราชโทมิน พระสังฆราชแห่งมิสซังลาวเล็งเห็นว่า “ข้าวในนามีมากแต่คนงานมีน้อย” ได้เขียนติดต่อเจ้าคณะพระมหาไถ่ที่กรุงโรม ขอพระสงฆ์ธรรมทูตมาช่วยแพร่ธรรมในเขตมิสซังลาว เจ้าคณะที่กรุงโรมให้ติดต่อคุณพ่อโทมัส พามเมอร์ เจ้าคณะสงฆ์พระมหาไถ่แห่งแขวงเซนต์หลุยส์ การติดต่อระหว่างผู้ใหญ่ทั้งสองจึงได้เกิดขึ้น

คุณพ่อพามเมอร์และที่ปรึกษาตัดสินใจรับงานของพระศาสนจักรชิ้นใหม่ ได้ส่งพระสงฆ์หนุ่มสององค์เข้ามหาวิทยาลัยคาทอลิกในกรุงวอชิงตัน เรียนการปฐมพยาบาลขั้นต้นและยาเป็นการเตรียมตัว แต่สงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทย ประเทศไทยจำเป็นต้องประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาโดยปริยาย การส่งธรรมทูตของคณะพระมหาไถ่ จากแขวงเซนต์หลุยส์จึงต้องชะงักไม่มีกำหนด

  ปี ค.ศ. 1947 คุณพ่อฟรังซิส เฟ เกน เจ้าคณะคนใหม่ของแขวงเซนต์หลุยส์ ต่อจากคุณพ่อพามเมอร์ได้เข้าร่วมประชุมครั้งใหญ่ของคณะที่กรุงโรม เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลงผู้แทนของคณะจากที่ต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา  สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสกับ คุณพ่อเฟเกน ว่า พระคาร์ดินัลผู้ดูแลกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อต้องการพบ วันรุ่งขึ้นคุณพ่อเฟเกนต้องประหลาดใจเมื่อพระคาร์ดินัลถามขึ้นว่า “ทำไมท่านไม่ปฏิบัติตามที่ได้สัญญาจะส่งธรรมทูตไปประเทศไทย” ความจริงคุณพ่อเฟเกน ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ท่านได้ตกลงจะส่งธรรมทูต 4 องค์ ที่อยู่ใต้การปกครองของท่านมาประเทศไทยเร็วที่สุด

ครั้นกลับจากการประชุมคุณพ่อเฟเกน ได้ค้นดูเอกสารต่างๆ ที่พระสังฆราชโทมิน ได้ติดต่อกับคุณพ่อพามเมอร์ เจ้าคณะแขวงคนก่อน พบว่าเอกสารเหล่านั้นเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเข้าใจว่าฝรั่งเศสมีอิทธิพลเหนือประเทศไทย จึงตัดสินใจเลือกพระสงฆ์ที่มีชื่อคล้ายคนฝรั่งเศสหรือมิฉะนั้นก็พูดภาษาฝรั่งเศสได้ เป็นธรรมทูตพวกแรกมาประเทศไทย ภายหลังจึงพบความจริงว่าหาได้เป็นไปตามที่เข้าใจไม่ ในระหว่างนี้ได้มีการติดต่อระหว่างคุณพ่อเฟเกน กับพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ผู้สืบตำแหน่งพระสังฆราชมิสซังลาว ต่อจากพระสังฆราชโทมิน พระสังฆราชได้ย้ำถึงความต้องการธรรมทูตในสังฆมณฑลของท่านอีกครั้ง

วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1948 ธรรมทูตคณะพระมหาไถ่ 4 องค์ คือ คุณพ่อคลาเรนส์ ดูฮาร์ต, คุณพ่อโรเยอร์ ก้อดเบาท์, คุณพ่อโรเบิร์ท ลาริวิแวร์ และคุณพ่อเอ็ดเวิร์ด เคน ได้ออกเดินทางจากท่าเรือซานฟานซิสโก โดยเรือโดยสารมุ่งสู่แดนสยามดินแดนที่ทั้งสี่ไม่นึกฝันว่าจะเป็นผู้ได้รับเลือกให้ทำงานของพระเจ้าที่นั่น

ในปี ค.ศ.1948 ล่องน้ำไม่ลึกพอที่เรือเดินสมุทรจะเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ฉะนั้น ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 เรือสินค้าที่คณะธรรมทูตโดยสารมาได้เข้าเทียบท่าที่เกาะสีชัง ทันทีที่ขึ้นบกธรรมทูตทั้งสี่ก็มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ พบคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ที่ปรึกษาของพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ รออยู่แล้ว พักที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดเตรียมข้าวของต่างๆ ให้เรียบร้อยอยู่ 2 อาทิตย์ จากนั้นทั้ง 4 พร้อมด้วย คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล นั่งรถไฟไปที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ววกกลับมาที่ท่าแร่ ศูนย์กลางของสังฆมณฑล ในเวลาไม่นานต่อมาด้วยรถยนต์ 

ชีวิตนักเรียนได้เริ่มต้นอีกครั้ง ภาษาเป็นสิ่งที่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องสามารถสนทนา คณะธรรมทูตตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดี จึงได้เริ่มเรียนภาษาไทยกับครูซึ่งพระสังฆราชเกลาดีอุส   บาเยต์ ได้เตรียมไว้ หนึ่งในครูเหล่านั้น คือ คุณพ่อเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ต่อมา 11 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขของสังฆมณฑลท่าแร่ 

จุดเริ่มต้น

บ้านช้างมิ่ง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นจุดเริ่มต้นเผยพระวจนแห่งพระเจ้าของธรรมทูตต่างถิ่นทั้งสี่ เป็นหมู่บ้านคาทอลิกค่อนข้างจะห่างไกลความเจริญ มีหมู่บ้านคาทอลิกใหญ่บ้างน้อยบ้างอยู่ใกล้เคียง เช่น หมู่บ้านหนองเดิ่น, ดอนม่วย, นาคำ, ดอนดู่, นาจาน, น้ำบุ่น หมู่บ้านเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น ธรรมทูตทั้งสี่จึงตกลงตั้งหมู่บ้านช้างมิ่งเป็นศูนย์กลางของคณะพระมหาไถ่แห่งแรกในประเทศไทย

การคมนาคมและถนนหนทางเมื่อครั้งกระโน้นไม่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบันนี้ การติดต่อไปมาระหว่างหมู่บ้านต้องเดินบ้างขี่ม้าบ้าง นี่คือพาหนะที่พระสงฆ์ธรรมทูตใช้ในการไปทำมิสซา สอนคำสอน และเยี่ยมเยียนสัตบุรุษตามหมู่บ้านต่างๆ แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่จิตตารมณ์ของนักบุญอัลฟอนโซ ที่ว่า “ เสาะแสวงหา เข้าถึง และเอาวิญญาณทุกดวงเพื่อพระเจ้า” ฝังอยู่ในจิตใจคณะธรรมทูต

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 คุณพ่อชาลส์ โกแตนท์ คุณพ่อจอห์น ไดย์ ได้เดินทางมาสมทบเป็นรุ่นที่ 2 ได้ดูแลและช่วยงานในเขตช้างต่อไป เดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันนี้ คุณพ่อดูฮาร์ต หัวหน้าและอธิการของกลุ่มธรรมทูตได้ส่ง คุณพ่อก้อดเบาท์และคุณพ่อโกแตนท์เข้ากรุงเทพฯ ตามคำเรียกร้องของพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง เพื่อหาทำเลก่อตั้งบ้านของคณะและดูแลสัตบุรุษชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากบ้าง, ท่องเที่ยวบ้าง, มากับเรือสินค้าเรือรบต่างๆ บ้าง คุณพ่อทั้งสองได้รับความร่วมมือจากนายแพทย์เลิศ ศรีจันทร์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ซอยมายเลิศเป็นบ้านพักชั่วคราวและใช้โรงรถเป็นวัดชั่วคราวเช่นกัน วัดหลังเล็กนี้ได้ชื่อภายหลังว่าวัด  “ แม่พระโรงรถ” 

ขณะเดียวกันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ ได้ขอร้องคณะพระมหาไถ่รับผิดชอบและดูแลหมู่บ้านคริสตังค์กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น หมู่บ้านห้วยเซือม, ห้วยเล็บมือ, ในจังหวัดหนองคาย บ้านโพนสูง ในจังหวัดอุดรธานี บ้านท่าบมในจังหวัดเลย เป็นต้น ผู้นำทางสู่หมู่บ้านใหม่เหล่านี้คือ คุณพ่อคาร โสรินทร์ ท่านเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบบริเวณส่วนใหญ่ของเขตนี้

วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1950 มิสซังลาวหรือมิสซังหนองแสงเปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าแร่” ปกครองเฉพาะ 15 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทางฝั่งซ้ายกลายเป็นสังฆมณฑล   “ท่าแขก” พระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ เป็นประมุขสังฆมณฑลท่าแร่

ปี ค.ศ. 1951 คุณพ่อวิลเฟรด เลารี่ และคุณพ่อเคร็สตัน สมิธได้เดินทางมาร่วมงานเป็นกำลังเพิ่มขึ้น ปีต่อมาคุณพ่อโรเบิร์ท มาร์ติน และคุณพ่อฟรังซิส โกโตร มาสมทบเป็นรุ่นที่ 4 

คณะรับผิดชอบสังฆมณฑลอุดรธานี

วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 มีประกาศแยกสังฆมณฑลท่าแร่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ท่าแร่, อุดรธานีและอุบลราชธานี กรุงโรมมอบให้คณะพระมหาไถ่เข้าดูแลเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลอุดรธานี ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเลย และจังหวัดหนองคาย คุณพ่อดูฮาร์ต  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุขรักษาตำแหน่งพระสังฆรักษ์ มีสิทธิเทียบเท่าพระสังฆราช ฉะนั้น จึงจำต้องลาออกตำแหน่งอธิการของคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย คุณพ่อโกแตนท์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการของคณะแทน ปีเดียวกันนี้เอง  บราเดอร์เควิน เพาเวอร์ ได้มาร่วมงานเป็นบราเดอร์คณะพระมหาไถ่คนแรกที่เหยียบย่างเข้ามาในประเทศไทย 

ช่วงที่แยกใหม่ๆ นั้นเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลอุดรธานี มีหมู่บ้านคริสตังค์และวัดน้อยมาก ในตัวเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางของแต่ละจังหวัดไม่มีวัดและที่ดินของวัดเลย จังหวัดขอนแก่นไม่มีวี่แววหมู่บ้านคริสตังค์ปรากฏ จังหวัดเลยมีหมู่บ้านคริสตังค์พร้อมวัดเล็กๆ หลังหนึ่งคือ บ้านท่าบม ในจังหวัดอุดรธานีมีวัดและคริสตังค์ ที่บ้านโพนสูงสวัสดีเท่านั้น จังหวัดหนองคายมีหมู่บ้านคริสตังค์มากที่สุดคือ ที่บ้านเวียงคุก บ้านห้วยเซือม และบ้านห้วยเล็บมือ หมู่บ้านทั้งสามตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง การเดินทางของพระสงฆ์ธรรมทูตขณะนั้นจึงสะดวกที่สุดด้วยทางเรือ

แม้คณะจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลท่าแร่ก็ตาม ระหว่างนี้ทางคณะยังยึดบ้านช้างมิ่งอยู่ในเขตสังฆมณฑลท่าแร่เป็นศูนย์กลางของคณะต่อไป

การขยายตัวของคณะ

ระหว่างปี ค.ศ.1953-1960 คณะพระมหาไถ่ในประเทศไทยได้ขยายตัวทั้งในด้านสมาชิกและวงงานด้านอภิบาลสัตบุรุษ ช่วงนี้มีสงฆ์ธรรมทูตจากแขวงเซนต์หลุยส์และโอกแลนด์ เข้ามาสมทบบุกเบิกพระศาสนจักรในเมืองไทยถึง 14 องค์ คิดเฉลี่ยแล้วมีพระสงฆ์ธรรมทูตคณะพระมหาไถ่เข้ามาปีละ 2 องค์

งานด้านอภิบาลสัตบุรุษเริ่มขยายตัวและมั่นคงยิ่งขึ้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1953 คุณพ่อก้อดเบาท์ และคุณพ่อโกแตนท์ ซึ่งได้เช่าบ้านเพื่องานของพระศาสนจักรในกรุงเทพฯ ได้ซื้อที่ดินในซอยร่วมฤดี เพื่อสร้างวัดในปีต่อมาด้วยคำแนะนำจาก พระคาร์ดินัล สเท็ลแมน และพระสังฆ ราชพูลตัน ชีน วัดพระมหาไถ่ถูกสร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบไทย แบบโบสถ์พุทธศาสนาเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สร้างลักษณะนี้ จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากบรรดาพระสงฆ์ นักบวช สัตบุรุษและผู้นับถือศาสนาอื่น แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ว่าวัดพระมหาไถ่เป็นวัดที่สวยสง่างามวัดหนึ่งในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับของสัตบุรุษทั้งไทยและต่างประเทศ

ทางเขตเทียบเท่าสังฆมณฑลอุดรธานี สมาชิกธรรมทูตคณะพระมหาไถ่มีมากเพิ่มขึ้น บริเวณและหมู่บ้านที่ต้องอภิบาลสัตบุรุษขยายกว้างออกไป ปีค.ศ.1956 คณะได้ตัดสินใจย้ายศูนย์ กลางจากบ้านช้างมิ่งไปที่บ้านเวียงคุก จังหวัดหนองคาย คืนบ้านช้างมิ่งและหมู่บ้านใกล้เคียงให้อยู่ในความดูแลของสังฆมณฑลท่าแร่

ปี ค.ศ. 1957 คริสตังค์หลายครอบครัวอาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพในตัวเมืองหนองคาย เป็นผลให้คณะธรรมทูตเช่าบ้านที่ตัวเมืองเป็นบ้านพักบ้านและวัดชั่วคราว ต้นปี ค.ศ. 1958 ความฝันของคณะพระมหาไถ่ที่จะมีศูนย์กลางในตัวเมืองหนองคายได้กลายเป็นความจริง ฉะนั้นศูนย์กลางของคณะต้องโยกย้ายอีกครั้งหนึ่ง จากเวียงคุกเข้าสู่หนองคาย

ความร้อนรนในการเผยแพร่พระศาสนามิได้นิ่งอยู่กับที่แต่เป็นแรงลี้ลับที่ผลักดัน ปี ค.ศ. 1958 คณะธรรมทูต 4 องค์ คุณพ่อสมิธ คุณพ่อโกแตนท์ คุณพ่อโกโตร และคุณพ่อแทรวิส  มุ่งบุกเบิกงานแพร่ธรรมที่จังหวัดขอนแก่น เป็นงานเริ่มต้นในจังหวัดนี้ ต้องสู้กับความลำบากและต้องอดทนที่พักอาศัยต้องเช่าเขาอยู่ อาศัยบ้านคริสตังค์ที่มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือนเป็นที่ถวายมิสซา พระอวยพร คริสตังค์มีเพิ่มมากขึ้น ปี ค.ศ. 1962 คณะได้สร้างศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองขอนแก่นเอง

เริ่มต้นคือการสร้างอนาคต คณะพระมหาไถ่มิได้นิ่งเฉยที่จะผลิตพระสงฆ์ไทย จากปี ค.ศ.1953 มีเด็กหนุ่มหลายคนสมัครเข้าเป็นเณรในคณะถือว่าพระอวยพร คณะฝากผู้สมัครเข้าเรียนโรงเรียนดาราสมุทรศรีราชา และโรงเรียนเซนต์โยเซฟท่าแร่ เพราะยังไม่มีบ้านเณรของตนเอง หนึ่งในผู้สมัครกลุ่มแรก คือ พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกในคณะพระมหาไถ่ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลอุดรธานี ในปี ค.ศ. 1975

ปี ค.ศ. 1959 ด้วยการนำของคุณพ่อมาร์ติน อธิการเณรคนแรกได้เช่าบ้านที่ชายหาดในอำเภอศรีราชาหลังหนึ่งเป็นบ้านเณรแบบหอพัก บรรดาเณรไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาตอนเช้าไปเย็นกลับ

พระสงฆ์ไทยในคณะเพิ่มขึ้น (1961-1982)

ในช่วง ปี ค.ศ. 1962-1966 มีธรรมทูตเพิ่มอีก 10 องค์ คือ คุณพ่อเรย์ เบรนนัน, คุณพ่อวีระพงษ์ (1961), คุณพ่อริชาร์ด สตร้าส, คุณพ่อบิลลี่ ไรท์ (1962), คุณพ่ออี. มิลเลอร์, คุณพ่อเอ้ดดี้ โอคอนเนอร์ (1963), คุณพ่ออานนท์ (1964), คุณพ่อแลรี่ แพทติน (1965), คุณพ่อไมเกิ้ล เช่ และ   คุณพ่อชาย ขันทะโฮม (1966) สามในสิบองค์นี้เป็นพระสงฆ์ไทย

ปี ค.ศ. 1962 ด้วยความเห็นชอบของผู้ใหญ่ทางคณะ คุณพ่อมาร์ตินอธิการเณรได้ซื้อที่ดินเชิงเขาฉลากในศรีราชาและได้สร้างบ้านเณรถาวร เมื่อต้นปีการศึกษา ค.ศ. 1963 เณรเล็กของคณะได้ย้ายตัวเองจากบ้านเช่าชายหาดสู้บ้านเชิงเขา แต่ยังไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญตามเดิม

ระหว่างปี ค.ศ.1966 ถึงปี ค.ศ.1974 อันเป็นปีสุดท้ายที่คณะพระมหาไถ่แขวงเซนต์หลุยส์ส่งคุณพ่อมาช่วยงานที่เมืองไทย คณะพระมหาไถ่ได้สมาชิกพระสงฆ์ไทยเพิ่มขึ้นอีก 6 ท่าน

ในปี ค.ศ.1974 คณะได้ตัดสินใจโยกย้ายเณรของคณะที่จบหลักสูตรจากบ้านเณรเล็กมาเรียนต่อปริญญาตรีปรัชญาและเทวศาสตร์ ร่วมกับเณรของสังฆมณฑลต่างๆ ในประเทศไทยที่บ้านเณรใหญ่แสงธรรม ก่อนนั้นส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณพ่อกริฟฟิต เป็นผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้างบ้านเณรใหญ่ของคณะขึ้นที่สามพราน

ปี ค.ศ.1975 คณะพระมหาไถ่จึงมีศูนย์กลางในการทำงานหรือบ้านของคณะเพิ่มอีกหนึ่งแห่งเป็น 5 แห่งคือ กรุงเทพฯ หนองคาย ขอนแก่น ศรีราชา และสามพราน นับแต่ปี ค.ศ.1976 จนถึงปี ค.ศ.1980 ทางคณะได้สมาชิกพระสงฆ์ไทยเพิ่มขึ้นอีก 14 ท่าน