เรื่องราวของคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทยเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1939 ในปีนั้นพระสังฆราช Gouen ได้เสนอต่อสันตะสำนักเพื่อขอธรรมทูตให้เข้ามาทำงานในเขตมิสซังสยาม ซึ่งเป็นเขตปกครองที่ท่านดูแล และยังรวมไปถึงประเทศลาวอีกด้วย สันตะสำนักจึงสอบถามมายังคณะพระมหาไถ่ว่า จะมีบุคลากรสำหรับงานนี้หรือไม่ คุณพ่อแพทริก เมอร์เรย์ ซึ่งเป็นมหาอธิการในขณะนั้น ได้พิจารณาบุคลากรในแขวงต่าง ๆ และเห็นว่าคณะ พระมหาไถ่ในแขวงเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสมาชิกเพียงพอที่จะรับงานนี้ได้ เพราะมีสมาชิกใหม่มากขึ้นและยังไม่มีการส่งธรรมทูตออกนอกประเทศ ดังนั้นคณะพระมหาไถ่ แขวงเซนต์หลุยส์ จึงตอบรับการเลือกให้มาทำงานในประเทศสยาม
แต่ก่อนที่จะเริ่มดำเนินภารกิจนี้ สงครามในตะวันออกไกลก็อุบัติขึ้น ทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงักไป แขวงเซนต์หลุยส์มองเห็นว่าภารกิจในประเทศสยามเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว จึงรับภารกิจหน้าที่เขตลุ่มแม่น้ำอเมซอน ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ. 1943 โดยทุ่มเททั้งกำลังบุคลากรและวัตถุปัจจัยที่นั่น
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสภาพบ้านเมืองในตะวันออกไกลสงบลง จึงมีการรื้อฟื้นภารกิจในประเทศสยามของแขวงเซนต์หลุยส์ขึ้นอีกครั้ง โดยพระคุณเจ้า โคลด บาเยต์ (Claude Beyet) ผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากพระสังฆราช Gouen เป็นผู้เชื้อเชิญ คณะพระมหาไถ่ แขวงเซนต์หลุยส์จึงรับภารกิจในประเทศสยามในที่สุด
การเตรียมการ
คุณพ่อฟรังซิส ฟาเก็น เจ้าคณะแขวงเซนต์หลุยส์ในขณะนั้น เริ่มพิจารณาหาบุคลากรที่เหมาะสม ท่านคาดการณ์ผิดไปว่า ธรรมทูตที่มีชื่อเป็นฝรั่งเศสน่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างดีในประเทศสยาม แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นเช่นนั้นเพียงแค่ก่อนสงครามโลกเท่านั้น เพราะประเทศสยามเข้าร่วมสงครามและรบกับฝรั่งเศส และธรรมทูตฝรั่งเศสหลายท่านต้องถูกขับไล่ออกไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ดูฮาร์ต , กอดเบ๊าท์ , ลา รีเวียร์ และเคน ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับงานธรรมทูตของพวกเขาเลย และโดยเฉพาะคุณพ่อกอดเบ๊าท์ ซึ่งสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่วก็เป็นประโยชน์ในการติดต่อประสานงานกับธรรมทูตที่พูดภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย
และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าชื่อที่ฟังดูเป็นฝรั่งเศส ก็คือความสามารถของธรรมทูตชุดแรก คุณพ่อคลาเรน ดูฮาร์ต หัวหน้าของคณะธรรมทูตกลุ่มแรก มีประสบการณ์มากมายในงานอภิบาล หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ท่านได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคาทอลิกในวอชิงตัน ในปี 1942 คุณพ่อได้สมัครทำงานเป็นพระสงฆ์ในกองทัพสหรัฐ และปฏิบัติภารกิจอยู่ในเขตน่านน้ำแปซิฟิก หลังจากนั้นท่านเข้าทำงานในคณะธรรมทูต ซึ่งทำหน้าที่เทศน์ฟื้นฟูจิตใจ และเทศน์ในรัฐต่างๆ ทางใต้ของสหรัฐอเมริกา คุณพ่อกอดเบ๊าท์ บวชได้ 8 ปีก่อนที่ท่านจะเดินทางมาประเทศไทย มีประสบการณ์การทำงานกับชาวอเมริกันที่พูดภาษาสเปน และทำงานในเขตวันต่าง ๆ มากมาย ทั้งงานในด้านการเทศน์อบรมภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน
ธรรมทูตอีก 2 ท่านที่ได้รับแต่งตั้งให้มาประเทศสยามก็คือ คุณพ่อลา รีเวียร์ และ คุณพ่อเอ็ด เคน ทั้งสองท่านนี้เดินทางมาพร้อมกับความร้อนรนของวัยหนุ่ม ไม่มีประสบการณ์แต่พร้อมสำหรับทุกสิ่ง คุณพ่อลา รีเวียร์เป็นอาจารย์สอนอยู่บ้านเณรเล็ก คุณพ่อเคนเดินทางมาประเทศสยามทันทีเมื่อจบจากบ้านเณร อย่างไรก็ตาม ทั้งสองท่านนี้มีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็ว และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเดินทางสู่ประเทศไทย..
วันแห่งการเดินทางสู่ประเทศสยามของธรรมทูตคณะพระมหาไถ่ก็มาถึง 6 มีนาคม 1948 พิธีส่งตัวธรรมทูตจัดขึ้นที่บ้านเณรคณะพระมหาไถ่ในโอ็คแลน แคริฟอเนีย จากนั้นธรรมทูตทั้ง 4 ขึ้นเรือโดยสารที่ชื่อ SS.Arkansan จะมุ่งสู่กรุงเทพโดยผ่านทางโยโกฮามาและไซ่ง่อน ที่โยโกฮามา พวกเขาได้รับการต้องรับอย่างอบอุ่นจากเพื่อนสมาชิกซึ่งทำงานอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ
คุณพ่อ เฮนรี ดี.ซัทตัน
การเดินทางใช้เวลายาวนานมาก 2 เดือนกับอีก 3 วันจึงไปถึงไซ่ง่อน พวกเขาใช้เวลาหมดไปกับการเล่นพินอคเกิล อ่านหนังสือ และพยายามศึกษาภาษาไทย ไพ่พินอคเกิลยังคงเป็นเกมส์พักผ่อนยามว่างของพวกเขาและถ่ายทอดมาถึงสมาชิกตลอด 50 ปีที่ผ่านมา การเดินทางครั้งนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะคุณพ่อกอดเบ๊าท์ ที่ต้องทรมานกับอาการเมาเรือเกือบตลอดการเดินทาง
ที่ไซ่ง่อน พวกเขาก็พบว่าจะต้องหาทางเดินทางต่อไปกรุงเทพฯ เอง หลังจากนั้น 2 สัปดาห์จึงถ่ายสัมภาระกว่า 100 หีบขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่งเสร็จ เพราะได้รับคำแนะนำจากพระสังฆราชจากกรุงเทพฯให้เตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะสามารถเอามาได้ สำหรับคุณพ่อกอดเบ๊าท์ก็เตรียมข้าวของนับตั้งแต่เตียงนอนจนถึงซิการ์ เมื่อมาถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตรวจดูหีบสัมภาระใบหนึ่ง ก็พบว่าในนั้นเต็มไปด้วยซิการ์
เมื่อมาถึงประเทศไทย
การเดินทางสิ้นสุดในวันที่ 19 พฤษภาคม 1948 เรือเทียบท่าที่เกาะสีชัง และต้องอาศัยเรือเล็กเพื่อขนข้าวของต่าง ๆ ไปกรุงเทพฯ ทางลำน้ำเจ้าพระยา โดยมีพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง (Chorin) เป็นผู้ต้อนรับ ท่านเป็นพระสังฆราชชาวฝรั่งเศสองค์สุดท้ายในประเทศไทย ท่านต้อนรับธรรมทูตกลุ่มแรกของคณะพระมหาไถ่สู่ประเทศไทยอย่างอบอุ่น พร้อมแสดงความยินดีหากคณะพระมหาไถ่จะทำงานในสังฆมณฑลของท่านด้วย
ในช่วงแรก ธรรมทูตทั้ง 4 พักอยู่ที่ “โปกือร์” (The Procure) อันเป็นศูนย์กลางของสังฆมณฑลกรุงเทพ ซึ่งในขณะนั้นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่โปกือร์เป็นธรรมทูตชาวฝรั่งเศส ความรู้ทางด้านภาษาฝรั่งเศสของคุณพ่อกอดเบ๊าท์จึงเป็นผลดีสำหรับการติดต่อสื่อสารในช่วงแรกนี้มาก การถวายบูชาอย่างเป็นสาธารณะครั้งแรกของธรรมทูตกลุ่มนี้ก็คือ มิสซาภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ พวกเขารู้สึกสบายใจที่ได้ทำงานเริ่มแรกโดยใช้ภาษาของตนเอง และพบปะผูกมิตรกับชาวต่างชาติในกรุงเทพฯมากหน้าหลายตา บางคนยังคงให้ความสนับสนุนคณะพระมหาไถ่ตลอดมาจนปัจจุบัน อาทิเช่น ดร.เลิศ ศรีจันทราและภรรยา คุณเจนนี่ ดร.ประเสริฐ และดร.พงษ์ และนาเน็ต ศิริสัมพันธ์ แห่ง “ลิตเติล โฮมเบเกอรี่”
งานอภิบาลแรกเริ่ม
และแล้วก็ถึงเวลาที่คณะธรรมทูตจะต้องเดินทางไปภาคอิสานเพื่อเริ่มงาน หลังจากการเดินทางเป็นเวลา 5 วัน พวกเขาก็มาถึงท่าแร่ โดยผ่านทางจังหวัดอุบลฯ พวกเขาได้พบกับพระคุณเจ้า โคลด บาเยต์ (Chaude Bayet) ท่านเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ มีหนวดเครายาว เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และเสียงดัง พูดภาษาไทยติดสำเนียงภาษาอิสานตลอดเวลา ท่านต้อนรับคณะธรรมทูตคณะพระมหาไถ่อย่างอบอุ่น และให้ความช่วยเหลือในระยะแรกของการเริ่มงานเป็นอย่างดียิ่ง เขตปกครองสังฆมณฑลท่าเร่ในขณะนั้น คือภาคอิสานทั้งหมด และรวมไปถึงประเทศลาวด้วย หลังจากนั้น 5 ปี จึงมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ คือ ประเทศลาว และอีก 3 สังฆมณฑลในภาคอิสาน พระสังฆราชบาเยต์ได้จัดให้คณะธรรมทูตทั้ง 4 เรียนภาษาไทย แต่ที่พวกเขาได้เรียนก็เห็นจะเป็น ภาษาไทยอิสาน ทำให้ธรรมทูตของเราส่วนใหญ่มีสำเนียงภาษาไทยแบบอิสาน อาจารย์ท่านแรกที่สอนภาษาไทยก็คือ คุณพ่อเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ซึ่งต่อมาได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชคนไทยองค์ที่สอง และปกครองในเขตสังฆมณฑลท่าแร่ ในภายหลังท่านก็ได้เป็นผู้อภิเษกนักเรียนภาษาไทยของตนเองให้เป็นสังฆราชด้วยคือ พระคุณเจ้าคลา-เรนซ์ ดูฮาร์ต บ้านของคณะจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในหมู่บ้านคริสตังค์ที่ชื่อว่า“ช้างมิ่ง” โดยอาศัยในอาคารหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐและปูน สมาชิกจึงสามารถพักอยู่ร่วมกันและแยกย้ายไปทำงานตามเขตที่ตนรับผิดชอบ นี่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประการหนึ่งของคณะพระมหาไถ่คือ ชีวิตกลุ่ม พวกเขาเดินทางไปเยี่ยมเยียนกลุ่มคริสตชนในความดูแล ทั้งด้วยการเดินเท้า ปั่นจักรยาน และขี่ม้า และกลับมาอยู่ร่วมกัน ช้างมิ่งเป็นศูนย์กลางของคณะอยู่เป็นเวลา 8 ปี ในขณะที่กลุ่มคริสตชนที่อยู่ในความดูแลมีเพิ่มจากเดิมคือ โพนสูง ห้วยเซือม ห้วยเล็บมือ และเวียงคุก ด้วยเหตุนี้คณะพระมหาไถ่มีบ้านแห่งแรกที่บ้านช้างมิ่งนี่เอง ทำให้สงฆ์คณะพระมหาไถ่คนไทยรุ่นแรกมาจากช้างมิ่งเกือบทั้งหมด เช่น คุณพ่อชาย ขันฑะโฮม คุณพ่อบรรจง ไชยรา คุณพ่อไพโรจน์ สมงาม และคุณพ่อประสิทธิ์ ตรงสหพงษ์
วัดพระมหาไถ่ กรุงเทพฯ
ปี 1949 เมื่อคณะธรรมทูตเริ่มงานในเขตช้างมิ่งแล้ว มีสงฆ์มหาไถ่จากสหรัฐเข้ามาสบทบอีก 2 ท่าน คือคุณพ่อชาร์ลส์ โกแตนต์ และจอห์น ไดน์ (Duyn) ทั้ง 2 เรียนรู้ว่าภาษาจนคล่องแคล่ว โดยเฉพาะคุณพ่อไดน์ยังเรียนรู้ภาษาเวียดนามด้วย ในขณะนั้นจึงมีการจัดตั้งบ้านของคณะในกรุงเทพฯ พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลกรุงเทพฯในขณะนั้นคือ มองซินยอร์ โชแรง ได้ขอให้คณะพระมหาไถ่เปิดวัดเพื่อให้การอภิบาลแก่คริสตชนที่เป็นชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ คุณพ่อกอดเบ๊าท์ ซึ่งต้องทนทรมานกับอาการท้องร่วงของปีแรกในเมืองไทย ทั้งประสบปัญหากับการเรียนภาษาไทย ได้เข้ามารับหน้าที่นี้ และแสดงให้เห็นถึงพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าที่ทำให้ท่านก่อตั้งวัดสำหรับคริสตชนที่พูดภาษาอังกฤษ คุณพ่อโกแตนต์มาช่วยเหลือท่านในการนี้และใช้เวลาในการเรียนภาษไทย จุดเริ่มต้นของวัดพระมหาไถ่ กรุงเทพฯ เริ่มมาจากการเช่าบ้านในซอยนายเลิศ ซึ่งไม่ไกลจากวัดพระมหาไถ่ในปัจจุบันเท่าใดนัก โดยปรับปรุงโรงรถของบ้านนั้นให้เป็นวัดน้อยและเริ่มมีพิธีมิสซาสำหรับสัตบุรุษทันที วัดน้อยแห่งแรกนี้ได้รับชื่อว่า “วัดพระมารดาแห่งโรงจอดรถ”
หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาได้โยกย้ายมาที่คลีนิกของดร.เลิศ บนถนนสาธร และทำมิสซาวันอาทิตย์ที่โรงเรียนมาแตร์ เดอี เพราะว่าจำนวนของสัตบุรุษมีมากขึ้น ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาของ “สงครามเย็น” และสถานทูตรัสเซียก็ไม่ห่างไกลจากบ้านพักพระสงฆ์ของเรานัก ประตูสถานทูตปิดอยู่ตลอดเวลา
เหมือนดินแดนต้องห้าม วันหนึ่งที่ประตูเปิดออก คุณพ่อกอดเบ๊าท์จึงขี่จักรยานเข้าไป พร้อมกับให้คำอธิบายว่า
“ผมมาทำสำมะโนคริสตชน อยากทราบว่าที่นี่มีใครเป็นคาทอลิกหรือไม่?”
แต่ท่านก็ถูกขอร้องให้ออกมาทันที เมื่อถึงเวลาที่จะต้องขยับขยายงาน คณะพระมหาไถ่ในสหรัฐจึงอนุญาตพร้อมอนุมัติเงินในการจัดซื้อที่ดินผืนเล็ก ๆ ขนาด 4 ไร่ครึ่ง เพื่อสร้างวัดพระมหาไถ่หลังปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นดูเหมือนว่าจะเพียงพอ บ้านพักสงฆ์ขนาดใหญ่สำหรับสมาชิก 15 ท่าน วัดพระมหาไถ่สร้างเสร็จในปี 1954 โดยจัดสร้างตามสถาปัตยกรรมไทย ด้วยคำแนะนำของ มองซินยอร์ ฟุลตัน ชีน โอกาสที่ท่านมาประเทศไทย ท่านกล่าวกับพ่อกอดเบ๊าท์ว่า “เมื่อคุณพ่อจะสร้างวัด ทำไมไม่สร้างในแบบสถาปัตยกรรมไทย” และขณะนั้นมีหลายคนบอกว่า
“คล้ายวัดพุทธ”
เพราะทุกอย่างคล้ายคลึงกับวัดพุทธ ไม่ว่าจะเป็นหลังคา หน้าจั่ว หรือซุ้มประตู จะมีให้เห็นว่าเป็นโบสถ์คาทอลิกก็คงเป็นเพียงกางเขนด้านหน้า เป็นเหตุทำให้เกิดการวิพากย์วิจารณ์ทั้งจากคนไทยเองและคนต่างชาติด้วย แต่คุณพ่อกอดเบ๊าท์ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าท่านทำถูกต้อง ในปี 1957 คุณพ่อกอดเบ๊าท์ได้เชื้อเชิญให้ซิสเตอร์คณะพระกุมารเยซูเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น 2 แห่ง โดยเริ่มจากห้องเรียน 4 ห้องในเดือนพฤษภาคม จากการกั้นห้องที่หอประชุมของวัด สอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนในปี 1998 โรงเรียนได้ขยายขึ้นจนในขณะนี้มีนักเรียนถึง 2000 คน
ความเจริญก้าวหน้า
ในขณะเดียวกันงานอภิบาลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ขยายตัวมากขึ้น คริสตชนทั้งหมดในเขตที่เรารู้จักกันในขณะนี้ว่า สังฆมณฑลอุดร-ธานี ก็อยู่ในความดูแลของสงฆ์คณะพระมหาไถ่ ภายใต้การปกครองของพระสังฆราชบาเยต์ ซึ่งในขณะนั้นท่านมีความคิดที่จะจัดแบ่งเขตการปกครองขนาดใหญ่นี้ใหม่ และให้คณะมหาไถ่รับภารกิจใหม่ คุณพ่อดูฮาร์ตซึ่งเป็นอธิการแต่ต้นก็ต้องประหลาดใจหลังจากกลับจากสหรัฐในปี 1953 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าในงานภารกิจใหม่ คือ ผู้ดูแลเขตแพร่ธรรมอุดร-ธานี โดยได้รับตำแหน่ง Prefecture Apotolic of Udonthani มอง ซินยอร์ดูฮาร์ต (ซึ่งยังไม่เป็นสังฆราชในขณะนั้น) ได้ย้ายออกจากเวียงคุก มาที่อุดรธานีในปี 1954
การแพร่ธรรมขยายออกกว้างขวางขึ้นพร้อมกับจำนวนของบุคลากรที่ส่งมาเพิ่มเติมจากสหรัฐ นับจากปี 1950 - 1953 มี คุณพ่อสมิท ลอว์รี คุณพ่อโรเบิร์ต มาร์ติน คุณพ่อฟรังซิส โกโทร และบราเดอร์เควิน พาวเวอร์ คุณพ่อที่เข้ามาในระหว่างนี้เรียนภาษาไทยที่จันทบุรี สำหรับ บราเดอร์เควินไม่ได้เรียนภาษา แต่เข้ามาช่วยงานในด้านของการก่อสร้าง ในปี 1960 บราเดอร์เควินกลับสหรัฐเพื่อเรียนต่อและบวชเป็นพระสงฆ์ในปี 1966 ท่านได้ฝากผลงานการก่อสร้างไว้มากมาย และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ วัดแม่พระลูกประคำ เวียงคุก วันที่ 19 มกราคม 1954 ได้มีการจัดตั้งบ้านคณะที่เวียงคุก โดยมีคุณพ่อโกแตนต์เป็นอธิการท่านแรก นี่เป็นบ้านคณะหลังแรกในสังฆ-มณฑลอุดรธานี คุณพ่อไดน์และคุณพ่อโกโทรไปร่วมสมทบ และช่วยกันดูแลวัดในเขตชายฝั่งแม่น้ำ้โขง
จากช้างมิ่งสู่หนองคาย
ในวันที่ 1 มกราคม 1957 คณะพระมหาไถ่ได้ย้ายออกจากช้างมิ่ง เพื่อที่จะเน้นงานในการสร้างสังฆมณฑลอุดรธานี บ้านของคณะแห่งใหม่เริ่มขึ้นที่หนองคาย อธิการคือคุณพ่อลอว์รี โดยมีคุณพ่อไดน์และคุณพ่อโกโทร อยู่ที่นั่นด้วย ยังมีธรรมทูตจากสหรัฐมาเพิ่มเติมอีกคือ บราเดอร์คอเนรีอัส ไรอัน ซึ่งมาถึงประเทศไทยเดือนธันวาคม 1956 ท่านได้ทำให้งานของคณะและพระศาสนจักรเจริญก้าวหน้ามากมาย ผลงานการก่อสร้างของท่านเป็นดังตำนานเล่าขาน ซึ่งเราจะพูดถึง “บราเดอร์คอร์นี”ในภายหลัง
บ้านคณะที่ของแก่น
เดือนกันยายน 1958 สมาชิกในบ้านที่ขอนแก่นได้รับมอบหมายให้ ทำงานในจังหวัดขอนแก่น ส่วนบ้านของคณะที่เวียงคุกก็ยังคงอยู่ และบ้านที่ ขอนแก่นยังไม่ได้จัดตั้งขึ้น เหตุนี้ คุณพ่อสมิท คุณพ่อโกโทร และคุณพ่อ แทรวิส รับฉายาว่า “กลุ่มดรีมทีม”
ทั้งสามทำงานในเขตขอนแก่น คุณพ่อแทรวิสเริ่มติดต่อและทำงานกับคนโรคเรื้อนที่บ้านน้อย บ้านนี้เป็นสนามงานหนึ่งที่สำคัญของคณะพระมหาไถ่ในการทำงานกับผู้ป่วย คนพิการ และคนยากจน เดือนกุมภาพันธ์ 1959 บ้านคณะที่ขอนแก่นได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการโดยมีคุณพ่อกริฟฟิตเป็นอธิการ มีคุณพ่อมอริสี และคุณพ่อทิลลีเป็นสมาชิก การขยายงานนี้เพื่อจะสามารถครอบคลุมงานอภิบาลในตอนใต้ของสังฆมณฑลอุดรธานี และเพราะจากการได้รับบุคลากรเพิ่มเติมจากสหรัฐ ในระหว่างปี 1955 - 1965 ธรรมทูตหลายท่านเข้ามาเมืองไทยในช่วงเวลานี้ ได้แก่ คุณพ่อบูเชต์ คุณพ่อแทรวิส คุณพ่อทิลลี่ คุณพ่อมอริสี คุณพ่อโบริน คุณพ่อทิล คุณพ่อกิบบอน คุณพ่อเฟลมมิง คุณพ่อเวลส์ คุณพ่อเทอร์โกวิส คุณพ่อเบรแนน คุณพ่อไร้ท์ และคุณพ่อสตัส นอกจากธรรมทูตชาวต่างชาติเหล่านี้ ยังมีสงฆ์คณะ พระมหาไถ่ไทย 2 ท่านแรกคือ คุณพ่อยอด พิมพิสาร และฟิลลิป วีรพงษ์ วัชราทิต ซึ่งรับศีลบรรพชาที่สหรัฐรวม อยู่ด้วย
ศรีราชา
ในการแต่งตั้งโยกย้าย เดือนกุมภาพันธ์ 1959 ก้าวสำคัญของคณะพระมหาไถ่ได้เริ่มขึ้น อันเป็นรากฐานการเติบโตของคณะในประเทศไทยต่อไป เราได้ริเริ่มบ้านเณรเล็กที่ชายทะเลเมืองศรีราชา ซึงในขณะนั้นคณะได้รับสมัครผู้สนใจที่จะเข้าคณะแล้ว มี 3 คนอยู่บ้านเณรเล็กที่เซบู ประเทศฟิลิปปินส์ โดยหนึ่งใน 3 นั้นก็มีพระคุณเจ้ายอด พิมพิสารอยู่ด้วย ส่วนผู้สมัครที่อยู่ในต่างจังหวัดจะรับการอบรมที่บ้านเณรเล็กท่าแร่ จนปี 1959 เราได้จัดตั้งบ้านเณรเพื่ออบรมเณรของคณะเอง เริ่มต้นด้วยการเช่าบ้านอยู่ชายทะเลที่ศรีราชา และเข้าเรียนที่อัสสัมชัญศรีราชา มีคุณพ่อบ๊อบ มาร์ติน เป็นอธิการท่านแรก มีผู้ช่วย 2 ท่าน ซึ่งเป็นธรรมฑูตที่เพิ่งมาจากสหรัฐคือ คุณพ่อกิบบอน และคุณพ่อ เฟลมมิง ในปีแรกมีเณร 16 คน จนในปีปัจจุบัน 1998 มีเณร 60 คน ซึ่งตลอดเวลาเกือบ 40 ปี มีพระสงฆ์ที่จบจากบ้าน เณรนี้ 30 องค์ และภราดา 2 ท่าน ในปี 1963 มีการย้ายบ้านเณรไปสู่บ้านแห่งใหม่ ซึ่งไม่ไกลจากสถานที่เดิมนัก คณะได้ซื้อที่ดินผืนเล็ก และก่อสร้างบ้านเณรให้สามารถรองรับเณรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี
ระหว่างปี 1950 - 1959
ในระหว่างช่วงปี 1950 - 1959 คณะพระมหาไถ่ได้เข้ามาทำงานในเขตสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จันทบุรี และอุดรธานี และรับใช้สังฆมณฑลอื่น ๆ ด้วยการเทศน์ฟื้นฟูจิตใจ ธรรมทูตจากสหรัฐยังคงเข้ามาในระหว่างนี้คือ คุณพ่อแพติน คุณพ่อเช คุณพ่อไมเออร์ รวมทั้งสงฆ์คณะพระมหาไถ่ชาวไทยที่กลับจากสหรัฐคือ คุณพ่อยอด พิมพิสาร ฟิลิป อานนท์ โคลาโซ คุณพ่อชาย และ คุณพ่อเล้ง
สังฆมณฑลอุดรธานี
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า The prefecture Apostolic of Udonthani จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1953 และคุณพ่อคลาเรนซ์ ดูฮาร์ต ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแล โดยยังไม่ได้รับการอภิเสกให้เป็นสังฆราช ท่านได้สร้างความก้าวหน้าอย่างมากมาย ด้วยการจัดซื้อที่ดินหลายแห่งซึ่งใกล้กับที่อยู่ของกลุ่ม คริสชน และสร้างสำนักไว้ที่บ้านจิก ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านนานกว่า 20 ปี สิ่งหนึ่งที่สำคัญในสมัยของท่านก็คือ การเชื้อเชิญให้คณะซาเลเซียนเข้ามาจัดตั้งโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี ทั้งโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย ในระหว่างนี้ได้มีคณะนักบวชชายและหญิงเข้ามาร่วมทำงานในเขตแพร่ธรรมมากมาย จนปี 1966 มีการประกาศจัดตั้งสังฆมณฑล อุดรธานีอย่างเป็นทางการ ท่านมองซินยอร์ดูฮาร์ตได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชของสังฆณฑลอุดรธานีท่านแรก พิธีอภิเษกจัดให้มีขึ้นที่หอประชุม โรงเรียนเซนต์แมรี่ อาจารย์ภาษาไทยของพระคุณเจ้าดูฮาร์ต คือพระสังฆราชเกี้ยน เป็นประธานในพิธีอภิเษกนี้ ในการจัดการก่อสร้างโรงเรียน วัด บ้านพักพระสงฆ์ อาราม และคลีนิก การก่อสร้างทั้งหมดนี้ ที่หนักสุดเห็นจะเป็นการก่อสร้างอาสนวิหาร พระคุณเจ้าดูฮาร์ตได้ปรึกษากับบราเดอร์คอร์นีในเรื่องการก่อสร้างโดยถามบราเดอร์ว่า “จะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไร?”
ทั้งนี้เพราะท่านยังไม่ได้เตรียมการใด ๆ เลย บราเดอร์คอร์นีจึงถามกลับไปว่า
“แล้วที่มีเงินอยู่เท่าไร?”
พระคุณเจ้าไม่มีเงินเพียงพอกับสิ่งที่บราเดอร์คอร์นีจะใช้เพื่อทำผลงานแห่งชีวิตชิ้นนี้ให้สำเร็จ แต่บราเดอร์ก็เริ่มก่อสร้างและทำสำเร็จตามที่คิดฝันเอาไว้ งานเสกอาสนวิหารจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 1969 ซึ่งใช้แทนที่วัดบ้านจิกซึ่งมี 100 ที่นั่ง มาเป็น 1500 ที่นั่งในอาสนวิหารแห่งใหม่น
สถิติจะช่วยให้เราเห็นภาพความก้าวหน้าของการแพร่ธรรมในสังฆ-มณฑลอุดรธานีได้ชัดเจนขึ้น ปี 1954 มีการสถาปนา the Prefecture และปี 1976 ถือว่าเป็นปีเริ่มแรกที่พระคุณเจ้ายอดพิมพิสาร เป็นประมุขสังฆมณฑล และปี 1997 เป็นสภาพในปัจจุบัน
พระสังฆราชยอด พิมพิสาร C.Ss.R
ในปี 1975 ซึ่งเป็นปีที่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาสุ่อินโดจีน ในประเทศไทยเองจึงมีความหวาดกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย ตามทฤษฎี “โดมิโน” โดยเฉพาะในภาคอีสาน แต่ความจริงมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในขณะนั้นมีแนวความคิดที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่บรรดาพระสังฆราชของทุกสังฆมณฑลในประเทศไทยควรจะเป็นคนไทย พระคุณเจ้าดูฮาร์ตเป็นท่านแรกที่ขอพ้นจากตำแหน่ง โดยมีพระสังฆราชยอด พิมพิสาร สงฆ์มหาไถ่ท่านแรกรับตำแหน่งสังฆราชแห่งสังฆมณฑลอุดรฯสืบมา ผลงานและความก้าวหน้าที่พระคุณเจ้ายอดก่อเกิดขึ้นในสังฆมณฑลและพระศาสนจักรมีมากมาย ซึ่งเราจะดูได้จากสถิติข้างต้น ที่เจริญก้าวหน้าเป็นสองเท่าจากเดิมในทุกด้าน